Hangzhou Cashless City Experience June 2019

Nopphorn Danchainam
4 min readJun 9, 2019

มาจีนครั้งนี้ในหลักสูตรโปรแกรม eFounders Fellowship รุ่นที่ 6 ที่สนับสนุนโดย The UN Environment Programme (UNDP) และ Alibaba เดือนมิถุนายน ปี 2019 เพื่อมาเรียนรู้ถึงการพัฒนาด้าน E-Commerce และ Smart City ในประเทศจีนที่เมืองหางโจว ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ Alibaba หรือคนมักเรียกกันว่า Alibaba Xixi Campus

ช่วงที่มาเรียน 10 วัน ทาง Alibaba Business School หน่วยงานดูแลหลักสูตรอบรม ได้ให้เวลา 1 วันของวันเสาร์ ให้นักเรียนทุกคนได้สัมผัสกับประสบการณ์จริงของการใช้ชีวิตในเมืองจีนที่เป็น Cashless Society เลยเป็นที่มาของการเขียน blog นี้เพื่อมาเล่าในสิ่งที่เราอาจจะได้อ่านในอินเทอร์เนต ฟังคนอื่นเล่า กับสิ่งที่ผู้เขียนได้เจอประสบการณ์จริงว่าเป็นอย่างไร

จีนถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีการใช้ mobile payment สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก มีขนาดมากกว่าอเมริกา 80 เท่า!! จากข้อมูลวิจัย Forrester Research ปี 2016 ประมาณการอเมริกามีการใช้ mobile payment ที่ 112 พันล้านเหรียญ เทียบกับ 9 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งตัวเลขปัจจุบันนี้ก็โตกว่าเมื่อสามปีที่แล้วไปมาก สังเหตุได้จากเวลาคนจีนมาเที่ยวเมืองไทย ทุกคนใช้มือถือ Alipay WeChat PAY จ่ายเงินเต็มไปหมด

มณฑลเจ้อเจียง Zhejiang เป็นจังหวัดขนาดกลางของประเทศจีนลำดับที่ 11 มีประชากรราว 47 ล้านคน ได้ร่วมมือกับ UNDP ก่อตั้งสมาคม Cashless Alliance เพื่อพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองต้นแบบ ของการลดการใช้เงินสด และพัฒนาตัวเองให้เป็น Smart City ซึ่งจากข้อมูล 95% ของร้านค้ารองรับการใช้เงิน digital เช่น Alipay หรือ WeChat PAY และ 98% ของ Taxi รองรับการจ่ายเงินด้วย mobile payment

Mobile App เบื้องต้นในการทดลองใช้ชีวิตใน Smart City ของจีน

  1. ALIPAY หรือ WeChat PAY คือ super app ที่สำคัญมากและสำคัญที่สุดของการจะอยู่รอดในเมืองจีนได้ ซึ่งต้องมี application เปิด Account และ Link กับเบอร์โทรศัพท์ที่เมืองจีน หากใครมีเพื่อนอยู่จีนอาจจะให้เพื่อนช่วยพาไปเปิดบัญชีธนาคารกับซื้อซิม เพื่อเอาไว้ใช้เปิดกระเป๋าเงิน
  2. BAIDU Map หรือ GAODE (高德) โปรแกรมแผนที่ในเมืองจีน ทุกคนอาจจะคุ้นชินกับการใช้ Google Maps เวลาเดินทางไปที่ต่าง ๆ แต่กับเมืองจีน บอกเลยว่าหลงแน่นอน เพราะข้อมูลสถานที่ แผนที่ เส้นทาง เทียบกันไม่ได้เลยกับแผนที่ในจีน
  3. Didi (滴滴) ดีดี้ อยู่จีนแล้วพูดจีนไม่ได้ จะเดินทางไปไหนมาไหน ก็ใช้ Didi เรียก taxi เอา หมดปัญหาไปหนึ่งอย่าง
  4. TAOBAO (淘宝) เถาเป่า อยากเข้าใจคำว่า E-Commerce ในจีนต้องใช้ TAOBAO สั่งซื้อของที่มีทุกอย่างในโลก อยากซื้ออะไรเปิดเถาเป่ามันมีทุกอย่าง และหลาย ๆ อย่างสั่งตอนเช้า ตอนเย็นส่งถึงโรงแรมเลย ระบบขนส่งของเมืองจนเป็นอะไรที่ล้ำหน้าและมีประสิทธิ์ภาพมาก
  5. HEMA เหอม่า แอพช๊อปปิ้งซื้อของจากเหอม่า supermarket
  6. Miaojie (喵街) โปรแกรมสำหรับการใช้ในห้างสรรพสินค้า INTIME

ประสบการณ์การเดินทางในจีน (Public Transportation)

  1. การเดินทางด้วยจักรยานเช่น hello bike, mobike, อื่น ๆ เมืองจีนมีจักรยานเช่าเยอะมาก หากต้องการเดินทางระยะสั้น ๆ การใช้จักรยานสะดวกมาก เดินไปไหนก็เจอ มีทั้งจักรยานปั่น จักรยานไฟฟ้า บางเมืองมี e-scooter ให้ใช้ ยิ่งเมืองใหญ่อย่างหางโจวมีถนนจักรยานให้โดยเฉพาะ ค่อนข้างปลอดภัยมาก ส่วนใหญ่ใช้ Alipay หรือ WeChat สามารถสแกน QRCode แล้วปลดล๊อกจักรยานได้เลย จะจ่ายเป็นจำนวนชั่วโมงที่ใช้จริง หรือเช่าเหมารายวันก็มีหมด ข้อควรระวัง ไม่ควรปั่นจักรยาน แล้วใช้อีกมือเล่นมือถือหรือดูแผนที่เด็ดขาด เพราะเจอหลุมหรือตัวหนอนแล้วมือถือบินออกจากมือไปนอนเล่นบนถนนแน่นอน โดนมาแล้ว
  2. Didi เหมือนกับ Grab หรือ Uber ในบ้านเรา เรียก taxi รถบ้าน รถ limousine ก็มีหมด ราคาก็ถือว่าไม่ต่างจาก taxi เลย (Express) อยากได้รถใหญ่บริการดีอีกนิดก็เรียก Premier ได้
อยากจ่ายด้วยอะไรพี่คนขับรับทุกประเภท

3. การเดินทางด้วยรถเมล์ หรือรถไฟฟ้าใต้ดิน Metro สามารถใช้ Alipay สมัครเปิดบริการ รถเมล์ และรถไฟฟ้า โดยจะได้ QRCode ออกมาเหมือนเป็นตั๋วรถเมล์ กับตั๋วรถไฟล์แยกกัน เหตุผลที่ต้องแยกกันอาจจะเข้าใจได้ว่า เพราะ operator รถเมล์และรถไฟล์นั้นเป็นคนละเจ้า เลยไม่ได้ร่วมเป็น QRCode เดียวกัน รถเมล์ถ้าเป็นราคาเดียวก็ scan ตอนขึ้นครั้งเดียว ส่วนรถไฟฟ้าใต้ตินก็สแกน QR เข้าและสแกน QR ออก ตอนออกระบบก็จะตัดเงินใน Alipay และส่งใบเสร็จมาให้ทันทีว่าเดินทางไปกี่บาท การทำงาน smooth มากและไม่รู้สึกติดขัดเลย

รถเมล์มีคนขับคนเดียว ไม่ต้องมีกระเป๋ารถเมล์
ใช้ Alipay กดเอาตั๋วรถเมล์หรือรถไฟก่อนขึ้นรถหรือ เข้า-ออกสถานี
รถไฟฟ้าใต้ดิน รับได้ทั้งบัตร RFID หรือ QRCode

4. กรณีขับรถยนต์ ประสบการณ์หนึ่งที่ผู้เขียนชอบมาก เวลาเดินทางไปกับเพื่อนคนจีนคือ เวลาขับรถเข้าที่จอดรถ จะไม่เจอป้อมพนักงานแจกบัตรหรือตู้เก็บเงินเลย ตึกใหม่ ๆ ทุกที่เป็นที่จอดรถแบบอัตโนมัติทั้งหมด คือระบบ parking จะใช้กล้องอ่านป้ายทะเบียนรถ ทำให้ไม่ต้องรับบัตรใด ๆ ทั้งสิ้นจากนั้นเวลาขับรถออกจากที่จดรถระบบจะตัดเงินจากบัญชีที่ผูกไว้กับป้ายทะเบียนอัตโนมัติ และจากที่สังเกตุคือระบบทำงานได้แบบรวดเร็วและไม่ต้องใช้คนมายุ่งเลย หากว่ารถคนไหนมีปัญหา ก็สามารถใช้มือถือ scan QR จากในรถเพื่อชำระเงินหรือเรียก service ได้

หนึ่งวันในเมืองหางโจว Smart City

  1. ตลาดสด Luojiazhuang Wet Market (骆家庄农贸市场) ตลาดขายผลไม้ เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ขนาดไม่ใหญ่มาก แต่สะอาด ทั้งตลาดเองรับเงิน digital ได้หมดแทบทุกเจ้า แต่ละแผงในตลาดมีหน้าจอ LCD บอกว่า lot ตัวเองขายอะไรบ้าง ราคาเท่าไร มีรูปหน้าเจ้าของแผงให้ดูด้วย
ตลาดสด Luojiazhuang Wet Market (骆家庄农贸市场)
ทุกร้านจะมีป้าย QRCode แปะอยู่ไว้รับเงิน กับเครื่อง SmartPhone ที่ธนาคารเอามาวางไว้
เข้าใจว่าธนาคารและ UnionPay เป็นคน sponsor เอาเครื่องมาลงแต่จากดูด้วยตาแล้ว 90% เครื่องปิดอยู่ไม่ก็โดน QRCode ติดทับเรียบร้อย 555

Tip: หากใครไปตลาดสด Luojiazhuang ตรงข้ามถนนจะมีหมู่บ้าน Hu Pan Hua Yuan (湖畔花园) ซึ่งในหมูบ้านนี้จะมีอพาร์ทเม้นที่เป็นจุดกำเนิดของ Alibaba ที่ Jack Ma ได้เช่าไว้ในปี 1999

Apartment แห่งแรกจุดกำเนิด Alibaba

2. การทานอาหารในร้านอาหารเมืองจีนถือเป็นประสบการณ์ใหม่ มีตั้งแต่ ร้านอาหารไม่ใช้คน Hua Xin Shi Dai (华星时代) คือเข้าไปสั่งอาหารจาก kiosk หรือ mobile app แล้วรออาหารปรุงเสร็จ ก็ไปเอาจากตู้ที่พนักงานทำได้เลย หรือการสั่งแบบที่เราเดินเข้าไปในร้านอาหารแล้วนั่งบนโต๊ะ แล้วเพื่อน ทุกคนในโต๊ะต่าง scan QRCode บนโต๊ะและช่วยกันสั่งอาหาร เราจะเห็นเมนูอาหารที่ทุกคนในโตีะสั่ง แล้วเวลาเรียกเก็บเงินก็สามารถหารจำนวนเงินจ่ายกันได้ผ่านมือถือทันที หรือแม้แต่ Bar ที่เราสั่ง cocktail ผ่านมือถือในโรงแรม Fly Zoo แล้วหุ่นยนต์ก็ทำ cocktail ตามเราสั่ง

Hua Xin Shi Dai (华星时代)
ตู้รับอาหารที่สั่งจาก kiosk หรือ mobile app
กดรหัสจาก sms หรือ mobile app ก็เปิดเอาอาหารไปได้เลย
Bar หุ่นยนต์ผสม Cocktail หรือชงกาแฟใน Fly Zoo Hotel ยังเป็น Pilot และอาจไม่ได้เหมาะเอาไปใช้จริงเท่าไร

3. สั่งอาหาร delivery จาก Elema เอ้อเลอมา แบบเดียวกับ Line Man, Grab Food, GET ที่เมืองจีนเราจะเห็นคนขี่มอไซต์ไปซื้อ Starbucks, KFC อาหารตามสั่ง ไปส่งให้ที่บ้าน ที่ทำงาน ถือเป็นเรื่องปกติมาก เพราะราคาค่าส่งก็ถูกมากด้วย

4. สั่งของออนไลน์ในจีนก็สะดวกมาก คนแทบจะเดินทางไปซื้อของกันน้อยลง และสั่งของใช้ หรือส่ิงที่ต้องการผ่านออนไลน์ได้แทบทั้งหมด ค่าส่งสินค้า 24 ชั่วโมงในจีนราคาเพียง 2.6 หยวน หรือสิบสองบาท ส่งสินค้าได้แทบทั่วประเทศ

สั่งของออนไลน์ตรวจสอบได้ตลอดว่าพัสดุถึงไหนแล้ว คนขับใกล้มาส่งหรือยัง

5. ดูหนังก็ซื้อตัวหนังใน Alipay ได้เลย แถมราคาถูกกว่าไปซื้อหน้าโรงหนังอีก

6. ถ้าชีวิตทุกอย่างอยู่บนมือถือแล้วเราก็ไม่ต้องพกกระเป๋าตังค์เลยสิ ซึ่งหลังจากที่ผู้เขียนได้ Alipay มาใช้งาน ก็ไม่เคยพกกระเป๋าเงินติดตัวไปอีกเลย ใช้มือถือเครื่องเดียวเลยจริง ๆ หลายคนสงสัยว่าแล้วแบตหมดทำไง ต้องพกแบตเตอรี่เสริมไปด้วยตลอดหรือเปล่า ซึ่งบริการหนึ่งที่ฮิตมากและพบได้ทุก ๆ ที่คือบริการเช่าแบตจากตู้ที่วางตามร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงแรม ร้านนวด ในราคาแค่ชั่วโมงละ 1 หยวนแถมเช่าจากที่หนึ่ง ไปคืนอีกที่หนึ่งก็ได้ ชอบมาก

บริการเช่าแบตเตอรี่ชาร์จมือถือ

7. อีกสิ่งที่สำคัญและรู้สึกได้คือ ความปลอดภัย การใช้ชีวิตในเมืองหางโจวให้ความรู้สึกปลอดภัยมาก บ้านเมือง ผู้คน คุณภาพชีวิตที่ดี ในขณะที่ค่าครองชีพถือว่าเทียบเท่ากับการอาศัยอยู่กรุงเทพเลย

หนึ่งวันในหางโจวถือว่าเปิดหูเปิดตาสำหรับคนไทยที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองจีน และทำให้เห็นว่าอนาคตประเทศไทยจะก้าวไปทางไหน สิ่งที่เรายังขาดที่จะพัฒนาประเทศให้ก้าวต่อไปข้างหน้า เอาไว้บล๊อกหน้าจะมาพูดเรื่อง Financial Services ในเมืองจีนกันต่อบ้าง

--

--

Nopphorn Danchainam

Working each and everyday to help other growth their business